วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การถ่ายภาพครั้งแรก ใช้เวลาถึง 8 ชม.

ขอบคุณภาพจาก th.wikipedia.org
นีเซฟอร์ เนียปส์ (ฝรั่งเศส: Nicéphore Niépce) ชื่อเกิด โฌแซ็ฟ เนียปส์ (Joseph Niépce; 7 มีนาคม 1765 - 5 กรกฎาคม 1833) เป็นนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ามีส่วนในการบุกเบิกการถ่ายภาพ

เนียปส์เกิดในเมืองชาลง-ซูร์-โซน (Chalon-sur-Saône) ในเขตจังหวัดโซเนลัวร์ปัจจุบัน บิดาเป็นทนายผู้มีฐานะ เขามีพี่ชาย 1 คน ชื่อ โกลด (1763-1828) มีน้องสาว 1 คน และน้องชายอีก 1 คน เมื่ออายุได้ 21 ปี เนียปส์ได้ศึกษาที่ Oratorian Brothers เมืองอ็องเฌ ในสาขาวิชาฟิสิกส์และเคมี เมื่อจบการศึกษาแล้ว เนียปส์จึงกลับมาเรียนวิชาการทหาร (National Guard) ที่เมืองชาลง-ซูร์-โซน บ้านเกิด

ในปี 1789 เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้น เนียปส์ได้ถูกประจำการเป็นทหารอยู่ที่ซาร์ดิเนีย และผลจากการปฏิวัติครั้งนี้ทำให้ทรัพย์สินของครอบครัวส่วนใหญ่เสียหาย แต่ครอบครัวของเขามีบ้านหลังหนึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านชาลง-ซูร์-โซน ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส หลังจากที่เนียปส์ได้ออกจากราชการทหารในปี 1794 เขาแต่งงานกับแอกเนส โรเมโร่ (Agnes Romero) และย้ายมาอยู่ที่เมืองนี้ เมื่อแต่งงานไปได้ 1 ปี ภรรยาของเขาก็ให้กำเนิดบุตร ตั้งชื่อว่า อีซีดอร์ (Isidore; ภายหลังร่วมมือกับหลุยส์ ดาแกร์ ผู้คิดค้น กระบวนการดาแกโรไทป์ เพื่อพัฒนางานถ่ายภาพ) ในขณะนั้น เนียปส์ใช้เวลาในการค้นคว้าทำการทดลองเกี่ยวกับการบันทึกภาพไปด้วยเนียปส์เสียชีวิตในปี 1833 ในสภาพบุคคลล้มละลาย


ปี 1816 เนียปส์ทดลองถ่ายภาพด้วยกล้องรูเข็มที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 4 3/4 นิ้ว โดยใช้สารประกอบของโลหะเงิน เป็นสารไวแสง เขาปิดประตูหน้าต่างหมดทุกบาน เหลือไว้เพียงบานเดียว หันหน้าเลนส์ไปทางหน้าต่างบานนั้น ข้างนอกหน้าต่างที่เปิดอยู่มีกรงนกแขวนอยู่ เมื่อถ่ายภาพกรงนก ปรากฏว่าได้ภาพที่มีพื้นหลังดำกรงนกสีอ่อนเกือบขาว ทั้งนี้เพราะนอกหน้าต่างมีความสว่างมาก จึงทำให้ภาพกรงนกดูซีดจางกว่าฉากหลัง ภาพที่ได้เรียกภาพ เนกาตีฟ (negative) คือ ได้ภาพสีดำ-ขาว กลับตรงกันข้ามกับวัตถุจริง แต่เขาไม่สามารถทำให้ภาพคงทนถาวรได้ เนื่องจากเนียปส์ไม่ทราบวิธีกำจัดสารไวแสงในบริเวณที่ไม่ถูกแสงออก ซึ่งสารไวแสงในบริเวณดังกล่าวจะค่อย ๆ ดำขึ้น ทำให้ภาพกลายเป็นสีดำไปหมดทั้งภาพ

เนียปส์ทำการทดลองใหม่โดยใช้สารบีทูเมนจูเดียซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของแอสฟัลต์ (ยางมะตอย) มีความไวแสงต่ำมาก สารดังกล่าวเมื่อถูกแสงแล้วจะแข็งตัวไม่สามารถละลายน้ำได้ ส่วนที่ไม่ถูกแสงจะอ่อนตัว สามารถล้างออกได้ด้วยสารละลายจำพวกน้ำมันลาเวนเดอร์ และน้ำมันสน ในที่สุด เนียปส์ประสบความสำเร็จ ในปี 1826 โดยใช้สารดังกล่าวเคลือบบนแผ่นโลหะผสมระหว่างดีบุก และ ตะกั่ว แล้วใส่เข้าไปในกล้องคาเมร่า ออบสคูร่า ถ่ายรูปจากหน้าต่างบ้านเลอกราของเขาเอง (ชื่อภาพว่า View from the Window at Le Gras ถ่ายที่เมืองแซ็ง-ลู-เดอ-วาแรน) ใช้เวลาเปิดรับแสงประมาณ 8 ชั่วโมง เป็น ภาพถ่ายที่ถาวร ภาพแรกของโลก

***ในไทยมีการถ่ายภาพครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 3


ขอขอบคุณข้อมูล th.wikipedia.org

อ่านข้อมูลทั้งหมดได้ที่ th.wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น